ส่วนที่ 1 สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน
องค์การบริหารส่วนตำบลละหาร เป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นจัดตั้งตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไป เล่มที่ 112 ตอนพิเศษ 6ง ลงวันที่ 3 มกราคม 2538 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538
โดยกำหนดตราสัญลักษณ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลละหาร ประกอบด้วย
- ขนาดเป็นรูปตรารูปกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร
- รูปลักษณะใช้รูปมือประสานกันหน้ารูปลูกโลกและมีรวงข้าว 2 รวง อยู่ระหว่างขอบบนมีอักษร “อบต. ละหาร” ขอบล่างมีอักษร “อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี”
ความหมายตราสัญลักษณ์องค์การบริหารส่วนตำบลละหาร คือ
- คำว่า “ละหาร” เป็นภาษายาวี แปลว่า ที่ราบลุ่มมีลักษณะคล้ายท้องกระทะ เหมือนสภาพพื้นที่ของตำบลละหาi
- รูปมือประสานกันหน้ารูปลูกโลกและมีรวงข้าว 2 รวง อยู่ด้านล่าง มีความหมายว่า สามัคคีร่วมมือร่วมใจกันพัฒนา อบต. ให้เจริญรุ่งเรืองสามัคคีกันทุกภาคส่วน
- รวงข้าว แสดงถึง ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
ด้านกายภาพ
1.1 ที่ตั้งของหมู่บ้านหรือชุมชนหรือตำบล
ตำบลละหารตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของอำเภอบางบัวทอง มีถนนสายหลักผ่านตำบลละหาร 3 สาย คือ ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี (340) ถนนบางบัวทอง-บางปะอิน (37) และถนนบางบัวทอง-สะพานนนทบุรี (345) ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 9/9 หมู่ที่ 6 ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี อยู่ระหว่างที่ว่าการอำเภอบางบัวทองและสถานีตำรวจภูธรบางบัวทอง
ตำบลละหารมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลและอำเภอต่าง ๆ ดังนี้ คือ
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลลำโพ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี
องค์การบริหารส่วนตำบลละหาร มีพื้นที่ 18.16 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11,350 ไร่
รูปแสดงที่ตั้งและอาณาเขตตำบลละหาร
1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของตำบลละหาร มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่สองฝั่งคลองลำโพที่ผ่านทางด้านตะวันออกของตำบลละหาร พื้นที่บริเวณนี้จะเป็นที่ลุ่มมาก พื้นที่ตำบลละหารเหมาะสำหรับทำการเกษตร มีลำคลองที่สำคัญซึ่งอยู่ใสความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ ควบคุมทั้งตำบล
1.3 ลักษณะภูมิอากาศ
ตำบลละหาร มี 3 ฤดู คือ
ฤดูฝน เริ่มประมาณเดือนพฤษภาคม เกิดจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เริ่มพัดเข้าก้นอ่าวไทย ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดผ่าน ทำให้ฝนตกมากขึ้นในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม เป็นระยะเวลาที่ฝนตกมากที่สุด ฝนที่ตกในระยะนี้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นซึ่งเคลื่อนตัวจากทางทะเลจีนใต้ เข้ามาทางฝั่งประเทศเวียดนาม ซึ่งเกิดขึ้นในบางที ถ้าปีใดเกิดมีหลายๆลูกเข้ามาติดๆกัน ทำให้ฤดูฝนยาวนานกว่าปกตินั้นจะทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ โดยส่วนใหญ่ฤดูฝนจะหมดฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม ปริมาณของน้ำฝนเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง ประมาณ 1,469 มิลลิเมตร/ปี
ฤดูหนาว เริ่มประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นระยะเปลี่ยนฤดูฝนเป็นฤดูหนาว ระยะนี้จะมีฝนตกน้อยไม่มากนัก ซึ่งจะมีลมพัดจากทางทิศเหนือมาใต้สลับกันเป็นระยะ ในเดือนธันวาคม-มกราคม ฤดูหนาวภายในตำบลละหารนี้จะไม่ถึงกับหนาวมาก เพราะส่วนใหญ่อากาศบริเวณนี้มีความชื้นสูงเนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลนัก
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนนั้นจะมีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุด แต่บางปีก็จะมีฝนตกบ้างเล็กน้อย
- อุณหภูมิ โดยทั่วไปฤดูร้อนอากาศจะร้อนไม่มากนัก ฤดูหนาวก็หนาวไม่มาก ส่วนในฤดูฝนมีฝนตกชุกพอสมควร
- ความชื้น เมื่อเปรียบเทียบกับตำบลที่มีการปลูกพืชไม้ผล จะมีความชื้นที่น้อยกว่า แต่ก็จะมีความชื้นสูงกว่าภาคกลางตอนบน
- ปริมาณและการกระจายของน้ำฝน เฉลี่ยในรอบปีประมาณ 1,469 มิลลิเมตร โดยมีการกระจายของฝน 3 ช่วง คือ
- เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม
- เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม
- เดือนตุลาคมจะเป็นช่วงที่มีฝนตกมากที่สุด
ลักษณะของแหล่งน้ำ
ภายในตำบลมีคลองธรรมชาติเป็นแนวเขตตำบลเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังมีลำคลองไหลผ่านทุกหมู่บ้าน มีอยู่ 8 ลำคลองที่เป็นคลองธรรมชาติ คือ
(1) คลองลากค้อน อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 5, 6 และ 7
(2) คลองลำรี อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 1, 2, 8 และ 9
(3) คลองลำโพ อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 2 และ 3
(4) คลองเจ๊ก อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 7 และ 8
(5) คลองตาคล้าย อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 7
(6) คลองเกาะดอน อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 4
(7) คลองถนนรถไฟเก่า อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 1 และ 5
(8) คลองขุนนคร อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 2
และอีก 1 ลำคลอง เป็นคลองชลประทาน (คลองขุด) คือ คลองคันแอน อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 2 และ 3
น้ำในลำคลองสามารถนำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกได้อย่างพอเพียง สภาพพื้นที่เป็นดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ปัจจุบันมีการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรน้อยลง เนื่องจากนำมาใช้สร้างโรงงานอุตสาหกรรม คลังเก็บสินค้า หมู่บ้านจัดสรร ร้านอาหาร ที่อยู่อาศัย ทำให้เริ่มเปลี่ยนแปลงจากชุมชนเกษตรกรรมเป็นชุมชนเมืองที่ได้รับความเจริญแพร่กระจายจากกรุงเทพมหานคร
ด้านการเมือง/การปกครอง
เขตการปกครอง องค์การบริหารส่วนตำบลละหาร แบ่งเขตการปกครองเป็น 9 หมู่บ้าน คือ
หมู่ที่ 1 บ้านถนนรถ
หมู่ที่ 2 บ้านสุเหร่าลำรี
หมู่ที่ 3 บ้านเกาะลอย
หมู่ที่ 4 บ้านเกาะดอน
หมู่ที่ 5 บ้านคลองลากค้อน
หมู่ที่ 6 บ้านลากค้อน
หมู่ที่ 7 บ้านสุเหร่าแดง
หมู่ที่ 8 บ้านลำรี
หมู่ที่ 9 บ้านคลองลำรี
- ประชากร ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากร
จำนวนประชากร (ตามทะเบียนราษฎร์) ทั้งสิ้น 21,905 คน แยกเป็น ชาย 10,592 คน หญิง 11,313 คน จำนวนครัวเรือน 10,351 ครัวเรือน อัตราส่วนความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 1,205 คน ต่อตารางกิโลเมตร แยกเป็นรายหมู่บ้าน ดังนี้
ตารางแสดงจำนวนประชากรของตำบลละหารตามทะเบียนราษฎร์
หมู่ที่ |
หมู่บ้าน |
จำนวนบ้าน (หลัง) |
||||
ปี 2558 | ปี 2559 | ปี 2560 | ปี 2561 |
ปี 2562 |
||
1 |
บ้านถนนรถ(บ้านคลองลากค้อนเหนือ) | 316 | 385 | 482 | 598 | 612 |
2 |
บ้านสุเหร่าลำรี | 1,435 | 1,453 | 1,501 | 1,569 | 1,575 |
3 |
บ้านเกาะลอย (บ้านละหาร) | 545 | 546 | 605 | 726 | 755 |
4 |
บ้านเกาะดอน | 957 | 958 | 965 | 969 | 970 |
5 |
บ้านคลองลากค้อน | 1,853 | 1,876 | 1,911 | 1,959 | 1,979 |
6 |
บ้านลากค้อน | 405 | 410 | 415 | 427 | 432 |
7 |
บ้านสุเหร่าแดง | 980 | 1,548 | 1,558 | 1,620 | 1,630 |
8 |
บ้านลำรี | 825 | 865 | 873 | 879 | 888 |
9 |
บ้านคลองลำรี | 2,279 | 2,311 | 2,331 | 2,467 | 2,472 |
รวมทั้งสิ้น |
9,669 | 10,352 | 10,641 | 11214 | 11,313 |
ที่มา : สำนักทะเบียนอำเภอบางบัวทอง ณ เดือนมิถุนายน 2562