โรคฝีดาษลิง “monkeypox” คืออะไร น่ากลัวแค่ไหน แล้วเราควรจะต้องระวังยังไงบ้าง
‘โรคฝีดาษลิง’ หรือ ฝีดาษวานร เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด
พบครั้งแรกในลิงทดลองในปีพ.ศ. 2501 โรคนี้พบมากในแอฟริกากลางและตะวันตก ในสัตว์หลายชนิด เช่น กระรอก หนูป่า รวมทั้งคนก็สามารถติดเชื้อนี้ได้ เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษในคน หรือ ไข้ทรพิษ (variola virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus)
2. แล้วตอนนี้มันกลับมาระบาดอีกครั้งหรอ ?
ตอนนี้เราพบการแพร่ระบาดในยุโรป โดยตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อที่ยืนยันได้คนแรกเป็นชาวอังกฤษ เพิ่งเดินทางกลับมาจากไนจีเรีย หลังจากนั้นมาก็พบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในอังกฤษ และหลายประเทศในยุโรป ได้แก่เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และสวีเดน สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย
รวมตอนนี้พบแล้วทั้งหมด 12 ประเทศ โดยในส่วนของยุโรปพบผู้ติดเชื้อและต้องสงสัยว่า จะติดเชื้อมากกว่า 100 คนแล้ว
3. อาการของโรค ?
* เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรือ อาจนานถึง 21 วัน
* อาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย
* จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา
* อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
* โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10
4. แล้วเราควรป้องกันตัวเองยังไงบ้าง
สำหรับการป้องกันควบคุมโรค ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค แนะนำให้
1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า 2) หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
3) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
4) ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
5) กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน
หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
ขอขอบคุณข้อมูลจากกรมควบคุมโรค
มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี